Network Effect Theory

คือคุณลักษณะที่คุณค่าหลักของสินค้าหรือบริการหนึ่งๆ ไม่ได้อยู่ที่คุณสมบัติของสินค้าหรือบริการนั้นๆ แต่อยู่ที่จำนวนผู้ใช้สินค้าหรือบริการ ยิ่งมีจำนวนมาก คุณค่าก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น

Network_effect.png

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือถ้าทั้งโลกนี้มีคนใช้โทรศัพท์แค่คนเดียว คุณคงไม่คิดอยากมีโทรศัพท์ใช้ นอกจากว่าคุณจะเป็นญาติพี่น้องหรือเพื่อนของคนเดียวคนนั้นที่มีโทรศัพท์ใช้ เพื่อที่คุณจะได้ใช้ติดต่อสื่อสารกับเขาได้ หรืออาจจะเพียงเพื่อความเท่ที่ได้เป็นคนรุ่นแรกๆ ที่ได้ใช้โทรศัพท์ก็ได้ แต่พอญาติพี่น้องของคนเดียวคนนั้นเริ่มใช้โทรศัพท์ ก็จะมีญาติพี่น้องของญาติพี่น้องที่อยากใช้บ้างตามมา ท้ายที่สุดแล้วผู้ใช้โทรศัพท์ก็ขยายเป็นเครือข่ายออกไปทั่วโลก

คุณค่าหลักของโทรศัพท์จึงไม่ได้อยู่ที่แผงวงจรอิเล็คทรอนิคส์ภายในเครื่อง ไม่ได้อยู่ที่รูปลักษณ์อันสวยงามจับถนัดมือของตัวเครื่อง แต่อยู่ที่เครือข่ายโทรศัพท์ที่เชื่อมโยงถึงกันทั่วทั้งโลก จนเมื่อโทรศัพท์กลายเป็นสินค้าพื้นฐานที่ใช้กันทั่วโลกแล้ว ผู้คนก็จะไม่ได้พิจารณาเรื่องคุณค่าของเครือข่ายการสื่อสารอีก แต่จะไปสนใจที่ความสามารถพิเศษของเครื่องโทรศัพท์แทน

หลักการของ Network Effect ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับบริการออนไลน์หลายอย่าง ที่โด่งดังมากในช่วงยุคดอทคอมบูมก็คือโปรแกรม ICQ ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับการสื่อสารด้วยข้อความแบบทันใจ (Instant Messaging) คุณค่าของโปรแกรมนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับคุณค่าของเครือข่ายโทรศัพท์เลย ถ้าคุณไม่มีคนรู้จักที่ใช้โปรแกรมนี้ คุณก็คงไม่รู้ว่าจะใช้มันไปทำไม

Network Effect ที่ใช้จับคู่คนสองคนเข้าด้วยกันอีกแบบหนึ่งก็คือ eBay ซึ่งเป็นตลาดประมูลสินค้าออนไลน์ ทำหน้าที่จับคู่ผู้ขายสินค้าเข้ากับผู้ซื้อสินค้า ด้วยความนิยมที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ทำให้เราสามารถขายสินค้าไทยให้กับคนอเมริกันได้โดยที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็นั่งอยู่ที่บ้านในประเทศของตัวเอง

นอกจากเครือข่ายของการสื่อสารและการจับคู่คนแล้ว Network Effect ยังถูกนำมาใช้อธิบายปรากฎการณ์ของเครือข่ายผู้สร้าง content ด้วย อย่างเช่น YouTube ที่มีผู้คนจากทั่วโลกเข้าไปโพสต์ไฟล์วิดีโอไว้ และให้คนทั่วไปเข้าไปโหลดดูได้ โดยที่ YouTube เป็นเพียงผู้พัฒนาโปรแกรมและผู้ดูแลระบบ แต่ไม่ได้เป็นผู้สร้าง content ขึ้นมาเอง

นอกจาก YouTube แล้วก็ยังมีเว็บไทยๆ อย่าง Pantip ที่มีลักษณะแบบเดียวกัน คือเปิดให้ผู้ใช้เว็บเข้าไปโพสต์ข้อความเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้
แต่ความท้าทายของเครือข่ายผู้สร้าง content แบบนี้ก็คือใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความถูกต้องเหมาะสมของ content ผู้ให้บริการเว็บหรือผู้สร้าง content? รวมถึงบรรทัดฐานความถูกต้องเหมาะสมก็ไม่ค่อยชัดเจนนัก

อย่างของ Pantip ความถูกต้องเหมาะสมก็คือการไม่ล่วงละเมิดสถาบัน การไม่กล่าวหาผู้อื่นโดยไม่มีมูลความจริง และการไม่ใช้ข้อความส่อเสียดหยาบคาย บรรทัดฐานนี้คือสิ่งที่ผู้ดูแลเว็บกำหนดขึ้น แต่อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ผู้ใช้เว็บยอมรับก็ได้ นั่นหมายความว่าถ้าวันหนึ่งที่ผู้ใช้เว็บส่วนใหญ่ไม่ยอมรับกับบรรทัดฐานของเว็บ ผู้ใช้เว็บอาจจะร่วมกันกำหนดบรรทัดฐานของตัวเองขึ้นมาแทน และถ้าผู้ดูแลเว็บยอมรับไม่ได้ เว็บก็คงต้องปิดตัวลง ดังนั้น กลยุทธ์ของผู้ดูแลเว็บก็คือการรักษาและเพิ่มจำนวนผู้ใช้เว็บที่เห็นด้วยกับบรรทัดฐานที่ผู้ดูแลเว็บกำหนดขึ้น เพื่อใช้เป็นน้ำดีในการเจือจางผู้ใช้เว็บที่ไม่เห็นด้วยกับบรรทัดฐาน

ยังมี Network Effect อีกประเภทหนึ่งที่โด่งดังมาก นั่นก็คือ Microsoft Office ที่มีผู้คนทั่วโลกใช้งาน มีไฟล์ Word, Excel, PowerPoint อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วทั้งโลก จนกลายเป็นมาตรฐานที่คนทั่วโลกต้องยอมรับไปโดยปริยาย ถ้าคุณใช้โปรแกรมสำนักงานยี่ห้ออื่นที่อ่านและเขียนไฟล์ของ Microsoft Office ไม่ได้ มันก็เหมือนคุณเป็นคนเดียวในโลกที่พูดภาษาสะเด๋ยบูดู ขณะที่ผู้คนทั่วโลกใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล

มีทฤษฎีหนึ่งที่สามารถใช้อธิบายปรากฎการณ์การเกิด Network Effect ได้ นั่นก็คือ

ทฤษฎี Diffusion of Innovation โดยพล็อตกราฟเป็นรูป S-curve ที่มีแกน X เป็นเวลา และแกน Y เป็นจำนวนผู้ใช้งาน

le1_fig04.gif

Innovators คือกลุ่มผู้ใช้รุ่นบุกเบิก คนกลุ่มนี้ชอบความแปลกใหม่ รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นคนแรกๆ ที่ได้ใช้สินค้าหรือบริการที่ออกมาใหม่ รับความเสี่ยงได้ถ้าสินค้าหรือบริการนั้นๆ ยังไม่มีเสถียรภาพนัก หรืออาจจะมีปัญหาอยู่บ่อยๆ ถ้าคุณกำลังพยายามสร้าง Network Effect ให้เกิดขึ้น คนกลุ่มนี้ถือว่ามีค่ามากในฐานะผู้ใช้รุ่นแรกที่พร้อมจะให้คำแนะนำในการปรับปรุงสินค้าหรือบริการแก่คุณ และยังเป็นผู้ที่ช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการของคุณให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วย
ใครที่เล่น Pantip ตั้งแต่เมื่อสิบปีที่แล้ว ตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีระบบสมาชิก ยุคที่ยังปลอมชื่อกันได้ ยุคที่มีตัวป่วนเข้ามาสร้างความวุ่นวายจนเว็บล่ม ก็ถือได้ว่าเป็น Innovators ของ Pantip ปัญหาข้อผิดพลาดต่างๆ ที่เคยประสบมาในยุคบุกเบิก ทุกวันนี้ไม่ค่อยพบปัญหาเหล่านี้อีกแล้ว เพราะทางเว็บได้นำข้อผิดพลาดไปปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น

Early Adopters คือกลุ่มผู้ใช้ที่มีส่วนสำคัญอย่างมากในการทำให้สินค้าหรือบริการเป็นที่รู้จักแพร่หลาย คนกลุ่มนี้จะบอกต่อและชักชวนคนรู้จักให้มาซื้อหาหรือใช้บริการเช่นกัน แต่สินค้าหรือบริการก็จะต้องมีเสถียรภาพมากขึ้นแล้ว ไม่เช่นนั้นถ้าคนกลุ่มนี้รู้สึกผิดหวัง พวกเขาอาจจะบอกต่อในแง่ลบได้
ใครที่มีเลขสมาชิก ICQ 6 หลัก หรือ 7 หลักต้นๆ ก็น่าจะเป็น Early Adopters ในยุคนั้นคนไทยยังใช้ ICQ กันไม่ค่อยมาก แต่ก็ได้คนกลุ่มนี้นี่แหละที่ช่วยบอกต่อให้เพื่อนๆ มาใช้ จนกลายเป็นเครือข่ายผู้ใช้ ICQ ที่เติบใหญ่ในอดีต

Early Majority และ Late Majority คือกลุ่มผู้ใช้ส่วนใหญ่เหมือนกัน ต่างกันตรงที่ Early Majority จะได้รับอิทธิพลจากกลุ่ม Early Adopters อย่างมาก ประเภทเขาชวนมาเราก็เอาด้วย ส่วน Late Majority จะตัดสินใจช้ากว่านั้น เขาชวนมาเราอาจจะยังไม่เอาด้วย แต่ถ้าเพื่อนในกลุ่มเราทุกคนเอาหมดแล้ว เราก็จะรู้สึกกดดันว่าทำไมตัวเองถึงไม่เอาอยู่คนเดียว
YouTube, Weblog, Social Network อย่างพวก MySpace หรือ Hi5 ณ ปัจจุบันน่าจะเรียกได้ว่าอยู่ในเฟสนี้แล้ว ส่วนเฟสนี้จะกินเวลายาวนานแค่ไหน ก็ต้องดูจากความสามารถในการเติบโต รวมถึงต้องดูว่ามีใครเป็นคู่แข่งบ้าง

Laggards หรือพวกตกยุค คนกลุ่มนี้ไม่ค่อยได้รับแรงจูงใจจากสังคมรอบข้างมากนัก แต่มักจะใช้ประสบการณ์ในอดีตของตัวเองในการตัดสินใจว่าจะใช้หรือไม่ใช้สินค้าหรือบริการนั้นๆ
คุณพ่อคุณแม่ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป หลายท่านเพิ่งจะมีโทรศัพท์มือถือใช้ ก่อนหน้านี้ท่านอาจจะไม่ใช้ก็เพราะว่าท่านไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องตามกระแสคนส่วนใหญ่ หรือบางท่านอาจจะใช้ไม่เป็น กลัวการใช้งานเทคโนโลยี กลัวราคาแพง แต่เหตุผลที่เพิ่งตัดสินใจใช้ก็เพราะมันมีประโยชน์ ราคาโทรศัพท์มือถือสมัยนี้ก็ถูกมาก ค่าโทรก็ถูกลงเช่นกัน

การจะสร้าง Network Effect ให้เกิดขึ้นได้นั้น ปัจจัยสำคัญคือต้องสร้างสิ่งที่แปลกใหม่ต่อกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เกิดกลุ่ม Innovators ขึ้นมา จากนั้นจะต้องพยายามสร้างโมเมนตัมให้มากขึ้นเพื่อให้เกิดกลุ่ม Early Adopters ที่จะทำหน้าที่เป็นนักประชาสัมพันธ์ให้แบบฟรีๆ ช่วงการสร้างโมเมนตัมน่าจะเป็นช่วงที่ยากที่สุดและเหนื่อยที่สุด เพราะเป็นช่วงรอยต่อของการทำให้คนอื่นรู้จัก ขณะที่ต้องพัฒนาสินค้าหรือบริการให้มีเสถียรภาพมากขึ้นด้วย แต่ถ้าผ่านช่วงนี้ไปถึงช่วง Early Majority ได้แล้ว ทุกอย่างจะหมุนไปได้ด้วยตัวเอง และคุณจะกลายเป็นเสือนอนกินทันที

Source
http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/0/0d/Network_effect.png
https://www.ntt-review.jp/archive_html/200804/images/le1_fig04.gif
http://guru.google.co.th
http://en.wikipedia.org
http://macroart.net/2007/04/network-effect-youtube-ebay-pantip/

Unless otherwise stated, the content of this page is licensed under Creative Commons Attribution-ShareAlike 3.0 License